Dahmer (2022) เจฟฟรีย์ ดาห์เมอร์ ฆาตกรรมอำมหิต
คดีของ Dahmer และตัวเขาได้รับการขนานนามว่า เป็นคดี ‘Milwaukee Cannibal’ หรือ ‘มนุษย์กินคนแห่งมิลวอกี้’ และสิ่งที่ทำให้ซีรีส์เรื่องนี้เป็นซีรีส์ Netflix ที่อยากแนะนำให้ดู ก็เพราะว่านี่ไม่ใช่แค่การนำฆาตกรมาฉายวนซ้ำ หรือทำหน้าที่พาคนดูไปใกล้ชิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญราวกับย้อนเวลาเกาะติด แต่มันคือการตั้งคำถามแนวจิตวิเคราะห์อย่างน่าสนใจว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้คนคนหนึ่งทำอะไรป่าเถื่อนโหดร้ายและเลือดเย็นเช่นนี้ อะไรคือสาเหตุที่เขาลงมือทำเรื่อย ๆ และตอนทำสิ่งนั้นกับหลังทำ Dahmer มีท่าทีอย่างไร โดยเล่าตั้งแต่ตัวบุคคลหรือตัวฆาตกรรายนี้ ไปจนถึงสิ่งแวดล้อมที่หล่อหลอมให้เขาเป็นปีศาจ ระบบสังคมที่ไม่เท่าเทียม และกระบวนการ (อ) ยุติธรรมที่เอื้อให้เป็น
หากนึกภาพไม่ออก Dahmer – Monster: The Jeffrey Dahmer Story เปรียบได้กับมุมกลับของซีรีส์เจ้าเดียวกันที่ชื่อ Mindhunter ซีรีส์เรื่องนั้นสร้างมาจากเรื่องจริงเช่นกัน ว่าด้วยการก่อตั้งหน่วย FBI และการพยายามเก็บข้อมูล ศึกษา และทำความเข้าใจฆาตกรต่อเนื่องหลายราย หรือกล่าวได้ว่าทั้งหมดเกี่ยวข้องกับการบัญญัติศัพท์ใหม่อย่าง ‘ฆาตกรต่อเนื่อง’ (Serial Killer) เพื่อนิยามคนที่ฆ่าคนอย่างต่อเนื่องและมีรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง แต่ในขณะที่ Mindhunter อยู่ภายใต้ธีมที่ตัวละครพยายามทำความเข้าใจความหมายนี้จากการพูดคุยกับฆาตกรชื่อดัง และสืบสวนคดีโดยดำเนินเรื่องผ่านตัวละครเจ้าหน้าที่ 2 คน ซีรีส์ Dahmer เป็นการบอกเล่าเรื่องราวเดียวกันในมุมกลับผ่านสายตาของ Jeffrey Dahmer ตั้งแต่เล็กจนโต และชวนตั้งคำถามว่า สุดท้าย “อะไรทำให้เด็กชายคนหนึ่งโตมาชั่วร้ายได้ถึงเพียงนี้”
ซีรีส์ถ่ายทอดให้ได้เห็นแง่มุมของฆาตกรคนนี้ผ่านการเจาะใจอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงผู้ใหญ่ แต่แทนที่จะเล่าตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่แบบเรียงลำดับเวลา (Chronological Order) Dahmer – Monster: The Jeffrey Dahmer Story กลับเลือกที่จะเล่าเหตุการณ์แบบตัดสลับไปสลับมาจนคนดูเกิดอาการ Lost in time (line) ตั้งแต่น้อยจนถึงมาก ราวกับกำลังดู Westworld ซีซั่น 2 ซึ่งพออ้างอิงซีรีส์เรื่องนั้น ก็ทำให้ฉุกคิดขึ้นได้ว่า อันที่จริงแล้ว ไม่ว่าผู้สร้างจะตั้งใจหรือไม่ การเล่าเรื่องแบบนี้ก็สะท้อนธีมเกี่ยวกับซีรีส์ฆาตกรที่มีตัวตนจริงได้เหมือนกันครับ นั่นคือเรื่องราวในชีวิตที่ทุกขณะมีส่วนหล่อหลอมและประกอบสร้างต่อชีวิตปัจจุบันของ Jeffrey Dahmer และเช่นเดียวกัน เขาไม่ได้เพียงแค่ก่อความสยดสยองในอดีตแล้วเรื่องจบ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือแผลและเรื่องเล่าที่ยังคงหลอกหลอนมาถึงปัจจุบัน ในฐานะส่วนหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์อเมริกาจนถึงปัจจุบันและต่อจากนี้
นอกจากการเล่าแบบตัดสลับอดีตปัจจุบันจะทำหน้าที่เพิ่มความน่าติดตามด้วยที่มาที่ไปก่อนจะลงเอยในฉากนั้นแล้ว อีกหนึ่งหน้าที่ของการเล่าด้วยวิธีนี้ คือการเผยให้เห็นมุมมองอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นจากฝั่งพ่อแม่ของ Jeffrey Dahmer เพื่อนบ้าน/ป้าข้างห้องที่ชื่อ Glenda Cleveland ที่ประสบพบเจอกับสิ่งที่ Jeffrey ทำอย่างใกล้ชิด ซีรีส์แสดงให้เห็นว่า เหยื่อของเขาไม่ใช่แค่คนที่ผ่านมาแล้วต้องจากไปโดยเงื้อมมือของฆาตกรกินเนื้อคนรายนี้ แต่พวกเขาเป็นคน มีความรู้สึก มีเพื่อน มีภาระ มีความฝัน และมีครอบครัวหรือคนที่รอให้พวกเขาเหล่านั้นรับสาย กลับมาบ้านมากินข้าว หรือนอนเตียงเดียวกัน รวมไปถึงครอบครัวของเหยื่อและท่าทีหลังจากสูญเสียคนที่รักไปเพราะชายคนนี้
แม้การเล่าเรื่องจะหน่วงช้าค่อยเป็นค่อยไปไปบ้าง และอาจทำให้รู้สึกว่าใช้เวลาพักใหญ่กว่าจะรู้สึกว่าเครื่องติด แต่ดูเหมือนจุดเด่นของซีรีส์เรื่องนี้จะไม่ใช่การจบค้างให้อยากดูต่อ แต่เป็นการพาไปติดตามหวาดผวาเพื่อเข้าใจในเหตุผลมากกว่าติดตามเพื่อมองหาปลายทาง (ในเมื่อเรารู้ว่าเขาจะลงเอยด้วยการเป็น Dahmer คนที่ติดคุกและลงเอยด้วยการสังหารโหด 17 ศพ) เน้นการเก็บข้อมูล ปะติดปะต่อ ทำความเข้าใจอย่างค่อยเป็นค่อยไป จนพอจิ๊กซอว์มาประกอบครบ ก็จะพบว่าเราทั้งเข้าใจ Jeffrey Dahmer ในขณะเดียวกันก็รู้สึกตรงกันข้ามว่า เราไม่มีทางเข้าใจเขาได้เลยเช่นเดียวกัน เหมือนที่ FBI หรือวิทยาศาสตร์และนักจิตวิทยาทำได้เพียงศึกษา ค้นคว้า สัมภาษณ์ และหาข้อสรุปเกี่ยวกับฆาตกรต่อเนื่อง จนค้นพบว่าข้อสรุปที่ชัดเจนที่สุดคือ เราไม่อาจเข้าใจคนพวกนี้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ หรือระบุได้อย่างชัดเจนว่าคนไหนจะโตมาเป็น Serial Killer หรือไม่ หรือเลี้ยงลูกอย่างไรไม่ให้เป็น Serial Killer